กรุงเทพฯ (16 พฤศจิกายน 2564) -- สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) โดย พ.ต.ต.ดร.ชวนัสถ์ เจนการ หัวหน้าโครงการวิจัย และ ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัย ได้เผยผลวิจัย “ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศ” โดยได้สรุปภาพรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมใน 8 ด้านสำคัญ ได้แก่ หนี้สาธารณะ หนี้เอกชน หนี้ครัวเรือน การท่องเที่ยว การว่างงาน ธุรกิจที่เลิกกิจการ โรงงานอุตสาหกรรม และวิถีชีวิตแบบใหม่ พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าหากคนไทยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 ช่วยให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือประมาณ 2,500 คนต่อวัน ส่งผลด้านเศรษฐกิจคาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นเกือบ 3 แสนคน ในไตรมาสที่ 4 และไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวจะสูงขึ้นกว่า 1.1 ล้านคน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยคาดการณ์ว่าปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.9% ด้วย
ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงผลการวิจัยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบในหลายด้านทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าและบริการ และการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเป็นที่มาในการศึกษาวิจัยเรื่อง “ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศ” ตลอดจนนโยบายรัฐบาลและแผนการรับมือ รวมถึงการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และศึกษาประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านสุขภาพระยะยาวจากการมีฐานการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
จากการศึกษาวิจัยในด้านเศรษฐกิจ พบว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในปี 2563 ลดลง 6.1% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยส่งผลกระทบตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 เกิดการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดยเฉพาะสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าที่หดตัว 36.6% และ 21% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังทำให้ภาคการส่งออกหดตัวลงด้วย โดยปี 2563 ลดลง 19.4% และยังพบอีกว่าส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยใน 8 ด้าน ได้แก่
จากผลกระทบที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้ออกมาตรการการต่างๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด พร้อมทั้งออกมาตรการทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น โดยโครงการต่างๆ ช่วยกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจ อีกทั้งได้มีมาตรการในการจัดหาวัคซีน โดยเลือกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนแรก และทางแอสตร้าเซนเนก้าเลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด– 19 ซึ่งผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยภายในปีนี้รัฐบาลได้เตรียมแผนการจัดหาวัคซีนจาก 3 วัคซีนหลัก คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และไฟเซอร์ รวม 127.1 ล้านโดส และหากรวมวัคซีนทางเลือกจะเท่ากับ 179.1 ล้านโดส ตั้งเป้าหมายการฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และเร่งการเปิดเมืองท่องเที่ยวต่างๆ และเปิดประเทศเต็มรูปแบบในระยะต่อไป คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ไทยจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมกันประมาณ 260-295 ล้านโดส เฉพาะของสยามไบโอไซเอนซ์ที่ผลิตให้แอสตร้าเซนเนก้าสามารถผลิตได้ประมาณ 185-200 ล้านโดสต่อปี โดยมีการจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทย 1 ใน 3 และอีก 2 ใน 3 ถูก ส่งมอบให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศใกล้เคียง
“หากคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าคือ 70% ของประชากร หรือ 100 ล้านโดส จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งปัจจุบันคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 85 ล้านโดส (ข้อมูล ณ วันที่ 14 พ.ย. 2564) มีส่วนสำคัญที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมช่วยให้สังคมกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ซึ่งจะเห็นได้จากในต่างประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศไทยการที่ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เองและเป็นฐานการผลิตให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นกุญแจสำคัญถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกวิกฤตการณ์ในครั้งนี้เสมือนเป็นการช่วยคนไทยและประเทศใกล้เคียงให้เข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็วและง่ายขึ้น ตลอดจนส่งผลต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ทั้งการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตทำให้มีความพร้อมสามารถรองรับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต” ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากการบริหารจัดการวัคซีนเป็นไปตามแผน ภายในเดือนธันวาคม 2564 จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือประมาณ 2,500 คนต่อวัน ผู้เสียชีวิตลดลงเหลือประมาณ 40 คนต่อวัน และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มเกือบ 3 แสนคน และเกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในประเทศ กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 10.38% อยู่ที่ระดับ 70.39 สูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 6.95% รวมทั้งผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมลดลง 32.23% หรือประมาณ 4.5 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ อาทิ มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จะพบว่าหากการระบาดของโรคโควิด-19 ลดลงเกือบเป็นศูนย์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 ล้านคน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 11.26% ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 39.29% ผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมลดลงกว่า 70,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปีก่อน โดยคาดการณ์ไว้ด้วยว่าปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.9% ด้วย ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าวทิ้งท้าย
Sign in to read unlimited free articles