คุยเรื่อง 'การบริหารคน' ในยุค Digital Transformation กับ 'วริศร เผ่าวนิช' ผู้บริหารรุ่นใหม่แห่ง Techsauce | Techsauce

คุยเรื่อง 'การบริหารคน' ในยุค Digital Transformation กับ 'วริศร เผ่าวนิช' ผู้บริหารรุ่นใหม่แห่ง Techsauce

ปัจจุบัน เราต่างเห็นความเปลี่ยนแปลงจากคลื่น Digital Disruption ที่ส่งผลให้หลายองค์กรต้องเร่งปรับตัวด้วยการทำ Digital Trasformation ซึ่งแน่นอนว่ากุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนได้สำเร็จ  คือ "คน" ดังนั้น หลายองค์กรจึงต้องมีการเร่ง Upskill & Reskill คนให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง รวมถึงจะต้องมีการสร้าง Mindset ที่พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลาเช่นกัน

Techsauce แพลตฟอร์มแห่งการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ ( Knowledge Sharing Platform) ที่ครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ จากการเข้ามาของ COVID-19 ได้ทำให้ต้องมีการปรับตัวไม่น้อยทั้งในแง่ของธุรกิจและการทำงานภายในองค์กร รวมถึงการ Upskill & Reskill และการสร้าง Digital Skill ให้กับพนักงานในองค์กรเองเช่นกัน 

วริศร เผ่าวนิช

บทความนี้ เราจะพาไปพูดคุยกับ คุณวริศร เผ่าวนิช หรือ คุณโต๊ด กรรมการผู้จัดการของ Techsauce หนึ่งในบุคคลสำคัญในขับเคลื่อนองค์กร เตรียมความพร้อม ‘คน’ ให้พร้อมรับทุกความเปลี่ยนแปลง รวมถึงมี Mindset ของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการปรับตัวท่ามกลางโลกที่มีความไม่แน่นอน 

สำหรับคุณวริศร ถือเป็นหนึ่งในบุคคลเบื้องหลังความสำเร็จของงาน Techsauce Global Summit ซึ่งเป็น Tech Conference ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยก่อนหน้าที่จะมาร่วมงานกับ Techsauce สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านออกแบบสื่อสาร (Communication Design) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านการตลาดและบริหาร ในระดับปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อที่จะนำความรู้ด้านการออกแบบไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ และได้มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการได้ร่วมงานกับ Techsauce มาอย่างต่อเนื่อง

วริศร เผ่าวนิช

ทำไมในยุคนี้ต้องมี Digital Skill และทักษะนี้มีความสำคัญอย่างไร ?

Digital Skill หรือทักษะด้านดิจิทัล เป็นทักษะที่หลายคนอาจจะไม่รู้ตัวมาก่อนว่า จริง ๆ แล้ว เราก็มีทักษะทางดิจิทัล เพราะทักษะด้านนี้เป็นทักษะพื้นฐานตั้งแต่การมีความรู้ความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยี เครื่องมือ อุปกรณ์ดิจิทัล อย่างเช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่จำเป็นจะต้องฝึกทักษะด้านดิจิทัลเลย เพราะในปัจจุบันมีสายงาน รวมทั้งองค์กรที่ต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจในทักษะดิจิทัลด้านต่าง ๆ ในขั้นสูง รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ การเขียนโปรแกรม เป็นต้น และมองว่า ในอนาคต Digital Skill นี้จะกลายเป็นทักษะที่เหมือนภาษา คือทุกคนมี ทุกคนใช้ ทุกคนรู้จัก และจะติดตัวไปตลอดเวลา

แต่การจะมีเพียง Digital Skill คงไม่เพียงพอกับการทำงานในยุคดิจิทัลเช่นนี้แน่นอน หากเรามองให้ดี ๆ ทักษะด้านดิจิทัลนี้ก็มีส่วนหนึ่งอยู่ใน Hard Skills ที่เป็นทักษะเฉพาะด้านทางวิชาชีพ อย่างเช่น การทำงานในสายพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเป็นนักการตลาด แต่ต้องอาศัยทักษะอีกส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็คือ Soft Skills หรือ ทักษะด้านลักษณะอุปนิสัย เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ การเห็นอกเห็นใจ การติดต่อสื่อสาร รวมทั้งทักษะที่ใช้เพื่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น

“ทักษะที่ต้องการในปัจจุบันนี้ เราจะเห็นได้ว่าเป็นลักษณะ T-Shape คือ การมี Hard Skills หลาย ๆ ด้าน ในขณะเดียวกันก็ต้องมี Soft Skills เข้ามาด้วย อีกทั้งเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปไกล ทำให้คนต้องรู้จักที่จะผสมผสานความรู้ร่วมกับเทคโนโลยี มี Digital Literacy เพื่อให้ตอบรับกับตลาดงานในปัจจุบัน” 

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีนั้นพัฒนาไป จนคนต้องสร้างทักษะ ความเชี่ยวชาญให้ตามทัน เพื่อไม่ให้เกิดการเข้ามาของเทคโนโลยีทำงานแทนที่มนุษย์ ซึ่งตลาดแรงงานในปัจจุบันนี้จะต้องการคนที่สามารถเรียนรู้ทักษะทั้ง Digital Skill, Hard Skills และ Soft Skills ได้ และสามารถนำทักษะเหล่านี้มาทำงานประกอบกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพได้มากที่สุด

Digital Skill กับ Digital Transformation สำคัญอย่างไรกับองค์กร ?

จุดเริ่มต้นของ Digital Transformation ก็เช่นเดียวกับ Digital Skill คือ มีการเกิดใหม่ของเทคโนโลยีเข้ามา มีการพัฒนาไปอย่างรวด และเข้ามามีผลต่อการใช้ชีวิต ดังนั้น คนก็จะต้องปรับตัวตามมันไป 

หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน จะเห็นได้ว่า กว่าเทคโนโลยีแต่ละตัว ทั้ง Software และ Hardware จะถูกพัฒนาขึ้นได้นั้น ใช้เวลานานมาก อาจจะกินเวลาถึงขั้นเป็นปี อีกทั้งเทคโนโลยียังไม่ได้มีความหลากหลายเท่าในปัจจุบันนี้ 

และเมื่อมีเทคโนโลยีดิจิทัล คำว่า Digital Disruption จึงเกิดขึ้นมา เป็นเหตุให้คน องค์กร ธุรกิจ บริษัทต้องปรับตัว โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปรวดเร็วเป็นรายวัน องค์กรต่าง ๆ จึงต้องเร่งทำ Digital Transformation และหากไม่ปรับตัว ความสามารถด้านต่าง ๆ ขององค์กรก็อาจจะลดลงไป ส่งผลถึงขั้นให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดลดลง ทำให้เราเห็นว่า หลัง ๆ มานี้ บริษัทหันมาแข่งขันกันด้านนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีกันมากขึ้น หันมาลงทุน ปรับเปลี่ยนในเรื่องของ Digital Transformation กันมากมาย

ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายองค์กรที่มองว่า การทำ Digital Transformation เป็นเรื่องของระยะยาว โดยมองว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยลดต้นทุน เพิ่มกำลังการผลิต รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 

แต่การจะทำ Digital Transformation ให้ประสบความสำเร็จไปสู่ภายนอก ต้องเริ่มจากปัจจัยภายใน ทั้งการปรับรูปแบบการทำงาน สถานที่ที่ทำงาน เทคโนโลยีที่นำมาใช้ สร้าง Digital Workplace ให้พนักงานในองค์กรได้เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี ติด Digital Skill และเกิดเป็น Digital Workforce ขึ้นมา ต่อให้มีที่ทำงานดี  ๆ มีเทคโนโลยีทันสมัย แต่หากพนักงานไม่สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้ มันก็เท่ากับว่าไม่เกิดการ Transform

ดังนั้น การจะทำ Digital Transformation การสร้างให้เกิด Digital Workforce และ Digital Workplace ต้องเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กันด้วย 

เมื่อ Digital Workforce สำคัญ จะทำอย่างไรให้คนในองค์กรสร้างทักษะด้านดิจิทัลได้ ?

การส่งเสริมให้เกิด Digital Workforce จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถทำ Digital Transformation ได้ และการจะส่งเสริมให้เกิดเป็น Digital Workforce นั้น พนักงานจะต้องมีการ Reskill และ Upskill อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตามทันการเปลี่ยนแปลงในโลกเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

ซึ่งการจะเสริมทักษะ สร้างทักษะใหม่ให้พวกเขาได้ ก็มีหลากหลายวิธีให้เลือกสรรได้ในปัจจุบัน ทั้งการให้เข้าร่วมงาน Event ต่าง ๆ การทำ Training การส่งเสริมให้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย และในช่วงการระบาดของโควิด-19 นี้ จะเห็นว่า คอร์สเรียน รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ถูกโยกย้ายไปในรูปแบบออนไลน์ เพราะฉะนั้น อีกวิธีที่จะช่วย Reskill และ Upskill ของพนักงาน อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ไปลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างทักษะตามที่ตัวเองสนใจ 

"อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมขององค์กรที่ต้องคอยสนับสนุนการเรียนรู้ของพนักงาน ซึ่งถ้าองค์กรไปบังคับให้พนักงานต้องเรียนรู้ แต่พวกเขากลับไม่ได้อยากเรียนรู้ ผลที่ได้ออกมามันจะไม่เต็มที่ และจะเกิดเป็นแรงต่อต้านแทน ดังนั้น องค์กรจะต้องสร้างวัฒนธรรมที่ช่วยให้พนักงานมีความ Active มีความต้องการที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา (Lifelong Learning)"

ไม่เพียงแต่การสนับสนุนบรรยากาศในองค์กรให้เกิดแรงกระตุ้นในการเรียนรู้เท่านั้น องค์กรจะต้องเปิดโอกาส สร้างพื้นที่ให้พนักงานได้ทดลองลงมือทำในสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้มา เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จริง ๆ พนักงานจะได้มีโอกาสลองผิดลองถูก ได้ลองออกนอกรอบของตัวเอง ได้ลองทำพลาด เพื่อจะได้เข้าใจ และพร้อมที่จะนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

ในแง่ขององค์กรแล้ว จะทำอย่างไรให้พนักงานสนใจเรียนรู้ตลอดเวลา  ?

ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 Techsauce เป็นหนึ่งในองค์กรที่ต้องปรับตัวอย่างมาก ด้วยรูปแบบการทำงานที่เป็นไป การจัดงาน Event ต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนไปเป็นออนไลน์ แต่ด้วยระยะเวลาอันสั้น พนักงานของ Techsauce สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว 

ต้องบอกว่า การปรับตัว เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปลูกฝังพนักงานได้ในช่วงข้ามคืน จะต้องใช้เวลา และการที่พนักงานของ Techsauce มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วนั้น เกิดขึ้นมาจาก ‘วัฒนธรรมองค์กร’ เป็นหลัก วัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้คนกล้าลองผิดลองถูกตลอดเวลา กล้าที่จะออกจาก Comfort Zone ให้ทดลองทำงานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ให้ลองผิดพลาดด้วยตัวเอง คอยสร้างความท้าทายตลอดเวลา เพื่อให้พนักงานไม่กลัวที่จะเรียนรู้

วริศร เผ่าวนิช

และเมื่อพนักงานถูก Challenge ให้ทำอะไรใหม่ ๆ มีการแข่งขันเกิดขึ้นในองค์กร มีคนเก่ง ๆ เข้ามาในทีม พนักงานก็จะมีแรงผลักดันให้อยากปรับตัว อยากจะเรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มเติมตลอดเวลา ส่งผลให้พนักงานจะถูกปลูกฝัง Lifelong Learning ไปเอง ทั้งด้วยรูปแบบการทำงานต่าง ๆ และด้วยการที่วัฒนธรรมมาส่งเสริมให้เกิดความท้าทายในการทำงาน 

นอกจากนี้แล้ว Techsauce ยังเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ลองทำโปรเจกต์ที่อยากจะทำจริง ๆ อย่างเช่น เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่จัดทำ ConNEXT แพลตฟอร์มที่เป็นคอมมูนิตี้ พื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และความคิด และยังตัวกลางเชื่อมคนรุ่นใหม่กับองค์กร โดยให้น้อง ๆ ได้ลองลงมือทำเต็มที่ และมีพี่ ๆ คอยเป็นผู้ไกด์ให้คำปรึกษา เป็นต้น

นอกจากทักษะแล้ว ยังมีเรื่องของเครื่องมือด้วย จะมีวิธีการเลือก Tools อย่างไร ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับองค์กรและพนักงาน ?

ต้องบอกว่าการที่จะรู้ว่าเครื่องมือชิ้นไหน อุปกรณ์อะไรที่จะเหมาะสมกับการทำงานของพนักงานนั้น จะมี 4 ขั้นตอนในการพิสูจน์ คือ

  • ตั้งคำถาม - เราจะลดขั้นตอนการทำงานอย่างไร ? เราจะแก้ปัญหาการทำงานซ้ำ ๆ ได้ไหม ? จะมีอะไรที่เข้ามาช่วยให้การทำงานไปได้เร็วขึ้น ? คำถามเหล่านี้ คือ จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในการหาเครื่องมือมาช่วยในการทำงาน หากหาต้นตอของปัญหาไม่ได้ สุดท้ายแล้วก็จะไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร

  • ค้นหาคำตอบ - คำตอบที่จะช่วยในการแก้ปัญหาการทำงาน สามารถหาได้ง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบันนี้ มีอินเทอร์เน็ตที่ทำให้การค้นหาคำตอบต่าง ๆ ง่ายขึ้น ดังนั้น เราจึงสามารถมองหาเครื่องมือได้อย่างหลากหลาย และสามารถเลือกสรรได้ตามแบบฉบับที่องค์กรต้องการ

  • ทดลองใช้ - หลังจากรู้แล้วว่า เครื่องมือตัวนี้น่าจะมีประโยชน์ เราก็สามารถนำมาทดลองใช้ ด้วยการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองจริง โดยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า มี Tools มากมายที่เปิดให้มีการทดลองใช้งานฟรีบนโลกอินเทอร์เน็ต 

  • ปรับมาใช้จริง - เมื่อพนักงานในองค์กรได้ทดลองใช้ ได้เห็นภาพ เห็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้งาน แล้วผลลัพธ์เหล่านั้นตอบโจทย์กับการทำงานของพวกเขาจริง ๆ การรับเอา Tools เหล่านั้นมาใช้งานก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเช่น การทำงานของ Techsauce เอง ก็มีการเปลี่ยน การทดลอง Tools ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งอาจจะมีบางเครื่องมือที่ใช้งานมายาวนาน มีบางเครื่องมือที่ต้องปรับเปลี่ยนอยู่บ่อย ๆ มีบางเครื่องมือที่ไม่ตอบโจทย์ รวมทั้งมีบางเครื่องมือที่ใช้ได้ในบางทีมเท่านั้น 

“สุดท้ายแล้ว ไม่มีเครื่องมือตัวไหน ที่เหมาะกับทุกทีม ทุกองค์กร เพราะรูปแบบการทำงาน การสื่อสาร หรือผลลัพธ์การทำงานที่ต้องการมีความแตกต่างกัน การจะรู้ว่าเครื่องมือเหล่านั้นเหมาะสมหรือไม่ หรือพนักงานจะยอมรับได้หรือไม่ ต้องมีการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เห็นภาพด้วยตัวเอง รวมทั้งฟังความเห็นจากพวกเขา เพราะเมื่อพนักงานได้รับประโยชน์ พวกเขาจะไม่ต่อต้าน และจะรับเอา Tools เหล่านั้นไปใช้ด้วยตัวเอง” 

ฝากคำแนะนำทิ้งท้ายในการที่องค์กรจะสามารถเตรียม ‘คน’ ให้พร้อมรับทุกความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

ทุกอย่างในองค์กร ในการทำงาน จะเปลี่ยนแปลงได้ มันต้องเริ่มที่ “คน” ซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร เพราะฉะนั้นการจะทำ Digital Transformation ไม่ใช่การลงทุนในเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าหากสุดท้ายแล้ว คนไม่พร้อมใช้ ไม่รู้จักวิธีที่จะใช้งาน สิ่งที่ลงทุนไปก็อาจจะไม่มีมูลค่าเลยก็เป็นได้ 

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ไปกว่าเทคโนโลยี คือ การ Educate คน ให้เข้าใจเสียก่อน และนอกจากนั้น ผู้บริหารเองก็ควรที่จะรับฟังพนักงาน เพราะแต่ละคนมี Digital Skill Gap หรือมีความรู้ ทักษะด้านดิจิทัลที่ไม่เท่ากัน เพื่อเป็นการทำความเข้าใจ และหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับพนักงานและองค์กรเอง  

และในส่วนของเด็กรุ่นใหม่เอง หากกำลังมองหาวิธีการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอยู่ จุดที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรู้ตัวเองก่อนว่าต้องการอะไร เป็นทักษะที่จำเป็นในตลาดงานหรือไม่ ไม่ใช่การไปเริ่มต้นด้วยการซื้อเครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้งาน แต่ให้เริ่มจากการค้นคว้า หาข้อมูล หาความสนใจของตัวเอง เพราะเทคโนโลยี นวัตกรรม มีการเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก เครื่องมือที่เราหามาได้ในวันนี้ อาจจะไม่ตอบรับกับวันพรุ่งนี้  ดังนั้น จะต้องมีการค้นคว้าตลอดเวลา เพื่อตามให้ทันเทรนด์เทคโนโลยี 

ท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนอย่ารู้สึกว่าเสียเวลาไปกับการเรียนรู้ เพราะ Digital Skill เป็นทักษะที่นำไปประยุกต์ใช้กับอย่างอื่นได้ เพียงแต่เราต้องรู้จักพัฒนา ปรับปรุง และนำไปปรับใช้กับอย่างอื่น การใช้งานเทคโนโลยีนั้น ไม่ใช่แค่ใช้เป็น แต่ต้องประยุกต์ได้


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...