ยุโรปเคยต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง ทำให้มีอุณหภูมิเพิ่มสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เพิ่มสูงทำให้ผู้ผลิตเบียร์ได้รับผลกระทบหนัก เพราะเบียร์รสชาติแย่ลง แต่น่าประหลาดที่มันกลับทำให้ไวน์มีรสชาติดีขึ้น แล้วแบบนี้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีหรือเปล่า ?
ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตไวน์ต่างกังวลว่าอากาศที่ร้อนขึ้นในแต่ละปี จะส่งผลกระทบต่อรสชาติของไวน์ เพราะองุ่นที่โตในอากาศร้อนจัดจะทำให้เถาวัลย์องุ่นโตได้ไม่เต็มที่และองุ่นที่ออกมาก็จะมีรสชาติไม่ดี
แต่กลับกลายเป็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไวน์จากเมืองบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส หนึ่งในเมืองที่เป็นแหล่งผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียง มีรสชาติดีขึ้นซะงั้น
โดยนักวิจัยใช้ชุดข้อมูลจำนวนมากในการพิจารณา ซึ่งชุดข้อมูลดังกล่าวได้รวบรวมการให้คะแนนไวน์และสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ปี 1950 ถึง 2020 (ยาวนานถึง 70 ปี)
ในการศึกษาคุณภาพของไวน์บอร์กโดซ์ จะแบ่งศึกษาออกเป็น 19 พื้นที่ เพราะการผลิตไวน์แต่ละที่มีวิธีการต่างกัน รวมถึงแต่ละพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยสภาพอากาศที่แตกต่างกัน เช่น ระยะเวลาของฤดูกาล อุณหภูมิ และปริมาณน้ำฝน
การศึกษาและเปรียบเทียบพบว่า ไวน์ที่รสชาติดีที่สุดจากเมืองบอร์กโดซ์ มักถูกผลิตขึ้นในปีที่มีอากาศร้อนและแห้งกว่าปกติ ปัจจัยด้านภูมิอากาศแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยจนสามารถตั้งข้อสังเกตได้
ตัวอย่างเช่น มีการคาดการณ์ว่าฝรั่งเศสจะร้อนขึ้นประมาณ 4 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นเมื่ออากาศอุ่นขึ้น องุ่นที่ถูกปลูกในช่วงนี้ก็กลับมีรสหวานมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งช่วยให้รสชาติของไวน์ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า แม้อากาศในฤดูเพาะปลูกจะมีผลต่อรสชาติขององุ่น สภาพภูมิอากาศนอกฤดูเพาะปลูกก็มีผลเช่นเดียวกัน Andrew Wood หัวหน้านักวิจัย เผยว่า ปริมาณน้ำฝนในฤดูหนาว (ซึ่งไม่ใช้ฤดูปลูกองุ่น) หากมีปริมาณมากก็จะสามารถช่วยรักษาสมดุลในดินได้ดี ส่งผลให้เถาวัลย์องุ่นมีสุขภาพดี ผลองุ่นก็จะมีคุณภาพที่ดี ซึ่งผลิตไวน์ได้ดีกว่า
แต่ถึงแม้ว่าภาวะโลกร้อนจะช่วยให้ไวน์อร่อยขึ้น ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องน่ายินดีสักเท่าไหร่ เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้ไฟป่าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อองุ่น เพราะควันจากไฟป่าอาจส่งผลเสียต่อรสชาติขององุ่น หรือปัญหาความแห้งแล้ง เพราะการปลูกองุ่นส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน หากขาดน้ำองุ่นก็จะตาย
นักวิจัยชี้ว่า แม้ว่าอากาศร้อนอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตไวน์ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงมากมายที่เราไม่ทราบแน่ชัดว่าความร้อนเหล่านี้จะไปสุดที่ตรงไหน และอาจแปรเปลี่ยนจากประโยชน์ไปสู่หายนะต่ออุตสาหกรรมไวน์ก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน
อ้างอิง: nationalgeographic, phys.org
Sign in to read unlimited free articles