จีนกำลังเปิดเมือง แต่โอกาสอาจไม่สดใสเท่าที่คิด | Techsauce

จีนกำลังเปิดเมือง แต่โอกาสอาจไม่สดใสเท่าที่คิด

จีนกำลังจะเปิดเมือง!

จีนมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น แม้การออกจากนโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’ในช่วงแรกค่อนข้างล่าช้า แต่การส่งสัญญาณจากรัฐบาลจีนว่าให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจะควบคุมการระบาดโดยให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด คือ ก้าวแรกและก้าวสำคัญที่ชี้ว่าในปี 2023 จีนกำลังจะเปิดเมืองหลังจากที่บังคับใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา  KKP Research ประเมินว่าการหากจีนสามารถเปิดเมืองได้เต็มที่ในปีหน้าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะในเรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และความผันผวนที่จะเพิ่มขึ้น

การเปิดเมืองจะล่าช้าในช่วงแรก เนื่องจาก

1)    อัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำจะยังกดดันระบบสาธารณะสุขจีน

ในวันที่อัตราการฉีดวัคซีนในจีนยังไม่แพร่หลายโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและวัคซีนจีนเองยังถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของจีนทั้งหมดอาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระดับที่ระบบสาธารณะสุขรับไม่ไหว จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากได้ และอาจสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลอาจต้องกลับไปล็อคดาวน์หนักอีกครั้ง ดังนั้น ภาครัฐมีแนวโน้มจึงผ่อนคลายมาตรการแบบค่อยเป็นไป

2)    เงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นเร็วอาจเพิ่มแรงกดดันในการทำนโยบายภาครัฐ

การเปิดเมืองจะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่ในปัจจุบันอยู่ที่ 2% มีความเสี่ยงเร่งตัวสูงขึ้นได้มาก โดยมีสาเหตุจากอุปสงค์ที่อั้นมาเป็นเวลานานในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ (pent-up demand) กลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปัจจัยการผลิต (เช่น แรงงานในภาคบริการหรือโรงงานที่ถูกปิดตัวไป) ไม่สามารถกลับมาได้เร็วเท่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขึ้นอาจกดดันให้ธนาคารกลางจีนต้องขึ้นอัตราเบี้ยและถอนสภาพคล่องออกจากระบบ แต่ก็จะเพิ่มความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯ โดยจะทำให้การเข้าถึงสภาพคล่องของบริษัทอสังหาฯ จีนทำได้ยากขึ้น ดังนั้นการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดจึงมีแนวโน้มค่อยเป็นค่อยไปโดยจีนจะมีนโยบายสนับสนุนการขยายตัวของอุปทานไปด้วยเพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเผชิญกับหลายอุปสรรคในระยะสั้น

ภาคการบริโภคของจีนจะหดตัวในระยะสั้นแม้ว่าจีนจะเริ่มคลายมาตรการโควิดแล้วก็ตาม เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจะบั่นทอนความมั่นใจของผู้บริโภคในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนกำลังชะลอตัว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในครึ่งแรกของปี 2023 อย่างไรก็ตามภาคการบริโภคจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มผ่านจุดสูงสุดและผู้คนมีความคุ้นชินและเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัสมากยิ่งขึ้นซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า

ราคาพลังงานโลกอาจพุ่งสูงขึ้นเมื่อจีนเปิดเมือง

ผลกระทบที่สำคัญของการหลังจีนเปิดเมือง คือ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์จะเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาจากจุดสูงสุดแต่ราคายังค้างอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนการระบาดโดยที่จีนยังไม่ได้เปิดเมืองด้วยซ้ำ วิกฤตราคาพลังงานสูงจากการตัดขาดอุปทานพลังงานจากรัสเซียที่ยังไม่สิ้นสุด การเปิดประเทศของจีนจะทำให้เกิดการนำเข้าน้ำมันในปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากและจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีความเสี่ยงที่จะพุ่งสูงขึ้นอีกได้ในปีหน้า

ประเด็นที่น่ากังวลยิ่งกว่า คือ ราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผ่านกระบวนการกลั่นเรียบร้อยแล้วเช่น ราคาน้ำมันดีเซลอาจพุ่งสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าราคาน้ำมันดิบจากทั้งเรื่องน้ำมันสำรองของหลายประเทศที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำมากในปีนี้รวมไปถึงกำลังการกลั่นที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าหลังโควิด แม้ว่ากำลังการกลั่นในจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแต่หากจีนยังคงจำกัดการส่งออกปิโตรเลียมต่อไปในขณะที่จีนเริ่มเปิดเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาพลังงานอาจไม่ลดลงได้แม้เศรษฐกิจในภูมิภาคจะเริ่มชะลอตัวลง

การส่งออกของประเทศแถบเอเชียอาจยังชะลออยู่แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัว

หากจีนสามารถเปิดเศรษฐกิจได้เต็มที่จริงจะเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคการส่งออกโลกในแถบเอเชียที่มีการส่งออกสินค้าไปจีนติดลบในช่วงที่ผ่านมา โดยประเทศที่คาดว่าจะได้ประโยชน์คือ 1) ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย  2) ประเทศที่มีการพึ่งพาภาคการบริโภคในจีนสูงได้แก่ ฮ่องกง 3) ประเทศที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนสูงได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ 

อย่างไรก็ตาม การที่อุปสงค์ในจีนกลับมาฟื้นตัวดีอีกครั้งไม่ได้แปลว่าภาคการส่งออกของไทยและประเทศอื่นๆจะขยายตัวได้ดีในช่วงปีหน้า เพราะในขณะที่จีนกำลังจะฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวและอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยการส่งออกโดยรวมยังมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากอุปสงค์ที่มาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรปและสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนรวมกันมากกว่าอุปสงค์ที่มาจากจีน

4 ความผันผวนที่จะสูงขึ้นในปี 2023

KKP Research ประเมินว่าแนวโน้มการเปิดเมืองของจีนในครั้งนี้จะเป็นปัจจัยที่จะสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม โดยปัจจัยที่สำคัญในปีหน้า คือ 

1)    ความผันผวนต่ออัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นได้จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวขึ้นหลังการเปิดเมือง นอกจากนี้หากราคาพลังงานเร่งตัวขึ้น อาจเกิดการส่งผ่านต้นทุนพลังงานไปยังราคาสินค้าหมวดอื่นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา เพราะ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงได้ถูกฝังเข้าไปในการคาดการณ์ของผู้ผลิต

2)    ความผันผวนต่อสถานะทางการคลัง หากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก pent-up demand ในจีนที่จะทำให้ภาระต้นทุนของรัฐบาลในการพยุงกองทุนน้ำมันที่กำลังขาดทุนอยู่และตรึงราคาไว้ที่ 34.99 บาทต่อลิตรเพิ่มขึ้นเช่นกันซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงขึ้นกว่าที่คาด

3)    ความผันผวนต่อค่าเงินบาท ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าการนำเข้าพลังงานของไทยเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกจากจีนที่จะมาช่วยพยุงการส่งออกไทยบางส่วนรวมไปถึงนักท่องเที่ยวจีนที่อาจจะกลับมามากกว่าที่หลายคนคาดในปีหน้าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากขึ้น 

4)    ความผันผวนต่ออัตราดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงและได้รับแรงสนับสนุนจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดในสหรัฐ ฯ (Terminal Fed Fund Rate) สูงเกินกว่าที่ตลาดคาดที่ 5% ในช่วงกลางปีหน้า ในสถานการณ์นี้นโยบายการเงินไทยจะได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับดอกเบี้ยสูงมากขึ้นจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้น ในขณะที่ราคาพลังงานจะเป็นอีกความเสี่ยงสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยค้างอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

เศรษฐกิจจีนหลังโควิดคือความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

เศรษฐกิจจีนอาจไม่กลับไปเติบโตแบบในอดีตจากความท้าท้ายหลายประการได้แก่ 1) จำนวนประชากรโดยรวมและประชากรวัยทำงานที่กำลังหดตัว 2) ปริมาณหนี้ขนาดใหญ่ที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน 3) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะยาวแม้ว่าในระยะสั้นอาจฟื้นตัวได้ดีหลังการเปิดเมือง ประเด็นที่สำคัญคือ หากเศรษฐกิจจีนไม่กลับไปเติบโตเหมือนในช่วงก่อนโควิด-19 ผลกระทบสืบเนื่องที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยคือ 

1) อุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเพื่อการลงทุนและภาคการบริโภคของจีนจะได้รับผลกระทบด้านลบสูงจากการชะลอตัวในระยะยาวของเศรษฐกิจจีน 

2) FDI จากจีนบางส่วนที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการค้าของไทยและจีนอาจชะลอตัวลง 

3) จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมายังไทยอาจลดลงในระยะยาวและไม่กลับไปยังระดับ 11 ล้านคนก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะเกิดขึ้น

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Jensen Huang ตอบประเด็นอนาคต AI ยังไงต่อ ? ในงาน GTC 2024

บทความนี้ Techsauce ชวนมาฟังความเห็นของ CEO บริษัทชิปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เกี่ยวกับอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ในงาน GTC 2024...

Responsive image

SpaceVIP จัดทริปกินมื้อหรูระดับมิชลินบนอวกาศ สนนราคาต่อหัว 17.8 ล้านบาท

โอกาสสำหรับการทานอาหารสุดหรูบนอวกาศมาถึงแล้ว SpaceVIP เตรียมเปิดประสบการณ์การทานอาหารจากเชฟระดับ Michelin Star ที่ความสูงกว่า 100,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลในการผจญภัยบนขอบอวกาศ โอกา...

Responsive image

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? แหล่งข่าวชี้ Selena Gomez เตรียมขายแบรนด์

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? ข่าวจาก Bloomberg ออกมาว่าตอนนี้ Selena Gomez ได้เริ่มดำเนินการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนเพื่อประเมินมูลค่าแบรนด์แล้ว...