จีน ฮ่องกง แบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่น หลังมีประกาศปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะสู่มหาสมุทรในวันนี้ (24 ส.ค. 66)
ก่อนหน้าการตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี บริษัท Tokyo Electric Power (TEPCO) ซึ่งเป็นบริษัทไฟฟ้าของรัฐ ได้สร้างถังขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อเก็บน้ำที่ปนเปื้อน ปัจจุบันพื้นที่ในการสร้างถังกำลังจะหมดลง จึงต้องบำบัดน้ำที่ปนเปื้อนและปล่อยออกสู่มหาสมุทร
ถึงแม้แผนนี้องค์การสหประชาชาติจะอนุมัติแผนดังกล่าว แต่ในประเทศข้างเคียงและชาวประมงพื้นบ้านก็ยังกังวลถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะจีนที่มองว่าแค่การประเมินจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อาจจะไม่เพียงพอ
เมื่อ 2 ประเทศข้างเคียงไม่พอใจโบกมือลาอาหารทะเลญี่ปุ่น โดยทางกรมศุลกากรของจีนหยุดนำเข้าอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากทะเลญี่ปุ่น ออกคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในญี่ปุ่นแล้ว และการนำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้จะต้องผ่านการทดสอบกัมมันตภาพรังสี เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชนชาวจีนให้ปลอดภัย
ก่อนหน้าที่จะมีกำหนดวันปล่อยน้ำ จีนเคยตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของกระบวนการดังกล่าว แต่ทางญี่ปุ่นไม่มีคำตอบที่น่าเชื่อถือเพียงพอให้กับจีน และเมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงออกคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 พื้นที่ของญี่ปุ่นอย่างไม่มีกำหนด ได้แก่ โตเกียว อิบารากิ กุมมะ มิยางิ ฟุกุชิมะ ชิบะ โทชิกิ นีงาตะ นากาโนะ และไซตามะ
แม้จะเกิดการประท้วงที่สถานทูตญี่ปุ่นในเกาหลีใต้จากประชาชนที่ไม่พอใจ แต่นายกรัฐมนตรีฮัน ดักซู ของเกาหลีใต้ เผยว่า ไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนต้องกังวล เพราะเกาหลีใต้เชื่อว่าการปล่อยน้ำเสียควรเกิดขึ้นตามข้ออนุมัติจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)
รัฐบาลเกาหลีใต้จะคอยตรวจสอบข้อมูลที่ญี่ปุ่นให้ไว้เกี่ยวกับน้ำเสียต่อไป นอกจากนี้เกาหลีใต้ก็ได้เตรียมรับมือกับข้อกังวลของประชาชนด้วยการวางแผนสร้างระบบตรวจสอบการปล่อยน้ำเสียของประเทศตนเอง อย่างไรก็ตามยังคงมาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากฟุกุชิมะและจังหวัดใกล้เคียงอยู่
ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ เกาหลีใต้พยายามสมานความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นคือการโน้มน้าวประชาชนว่าน้ำเสียไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น โดยจัดให้มีการบรรยายสรุปรายวันเกี่ยวกับประเด็นนี้และเผยแพร่คำอธิบายบนช่องทางโซเชียลมีเดียของรัฐบาล
อ้างอิง: reuters , asia.nikkei
Sign in to read unlimited free articles