บริษัททั่วโลกกำไรลด จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แม้บิ๊กเทคสหรัฐจะเริ่มฟื้นตัว ภาคการเงิน ยานยนต์ฟื้นตัว ในขณะที่กลุ่มธุรกิจวัสดุ ด้านพลังงาน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์น่าเป็นห่วง
จากข้อมูลของ QUICK-FactSet บริษัทด้านการวิจัยระบุว่า ไตรมาสที่สิ้นสุดเดือนมิถุนายน กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในตลาดราว 11,000 แห่ง ในสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ลดลง 3% สู่ระดับ 955,700 ล้านดอลลาร์
กำไรของบริษัทในสหรัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 10% โดยได้แรงหนุนจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่และ Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett
ในประเทศญี่ปุ่น การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ มีส่วนช่วยเพิ่มกำไรมากกว่า 10%
กลุ่มธุรกิจการเงินกำไรเพิ่มขึ้นถึง 80% โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินขนาดใหญ่เช่น JPMorgan Chase และ HSBC Holdings
กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ก็เติบโตเช่นกัน ในปีนี้ Toyota Motor มีกำไรสุทธิประจำไตรมาสสูงถึง 1 ล้านล้านเยน หรือ 6.9 พันล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรก เนื่องจากสถานการณ์ขาดแคลนชิปประมวลผลผ่อนคลายลง
กำไรในบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากการปรับโครงสร้างองค์กร (ปลดพนักงาน ลดต้นทุน จัดลำดับความสำคัญธุรกิจใหม่) และการฟื้นตัวของรายได้จากโฆษณา ทั้ง Apple, Microsoft, Alphabet, Meta, Amazon และ Tesla ต่างก็รายงานผลกำไรที่สูงขึ้น เป็นครั้งแรกที่มาพร้อมกันทั้ง 6 เจ้า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2021 โดยต่างกำลังมองหาน่านน้ำใหม่พุ่งเป้าไปที่ธุรกิจ AI
กลุ่มธุรกิจขายวัสดุและกลุ่มธุรกิจพลังงานที่เคยทำกำไรมาก่อนหน้านี้ กลับทำกำไรลดลง 40% ซึ่งบริษัทน้ำมันทั้งยุโรปและอเมริกันรวมไปถึงจีนกำไรลดลงทั่วทั้งกระดาน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันตก
นอกจากนี้ธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ทั้งในยุโรปและจีนก็มีกำไรลดลงถึง 60%
การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้บริษัทต่างๆทำกำไรไม่ถึงเป้าหรือกำไรลดลงเป็นจำนวนมาก
BASF บริษัทส่งออกและจำหน่ายเคมีภัณฑ์จากยุโรปประสบปัญหาด้านรายได้เนื่องจากกำไรลดลงถึง 76% ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากลูกค้าชาวจีน
ภาคธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีกำไรลดลงถึง 30% ในส่วนของธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ปรากฎว่า Qualcomm กำไรลดลงกว่าครึ่ง เนื่องจากความต้องการมือถือสมาร์ทโฟนทั่วโลกลดลงโดย หน่วยงานวิจัย IDC Japan คาดว่าตัวเลขการจัดส่งโทรศัพท์มือถือทั่วโลกจะตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ในปีนี้
รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของจีนซึ่งไม่รวมอาหารและพลังงาน ชะลอตัวลงเหลือ 0.4% ต่อปี ในเดือนมิถุนายน
ความเห็นจากเจ้าของร้านอาหารในปักกิ่งมองว่า เช่น กำลังซื้อของลูกค้าลดลง เช่นจากเคยใช้จ่ายที่ 400 หยวนก็ใช้จ่ายลดลงต่ำกว่า 300 หยวน แม้ว่ารัฐบาลจะมีการลดหย่อนมาตราการปลอดโควิดไปแล้ว
ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ล้วนมีความกังวลที่จะซื้อสินค้ามากขึ้น หรือแม้แต่การลงทุนที่ใช้เงินจำนวนมากๆ เช่น การซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ที่อาจเสี่ยงเกิดฟองสบู่แตก อีกทั้งอัตราการว่างงานของวัยรุ่นชาวจีน ก็พุ่งสูงขึ้นถึง 20%
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวจนทำให้กำลังซื้อและความต้องการสินค้าของชาวจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ที่มา : Nikkei, China Economic Slowdown - Nikkei
Sign in to read unlimited free articles