หลังจากที่ BioNTech บริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติเยอรมัน ได้ประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างล้นหลาม ตอนนี้ทาง BioNTech ได้มุ่งความสนใจไปที่การรักษาโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งในระดับโมเลกุล หลังจากผลการศึกษาเบื้องต้นในหนูพบว่ายารักษา mRNA สามารถลดขนาดเนื้องอกในหนูได้อย่างสมบูรณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบในมนุษย์
จากการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Science Translational Medicine ระบุว่า mRNA หรือ Messenger RNA เป็นโมเลกุลที่สั่งเซลล์ในร่างกายสร้างโปรตีน ซึ่งในกรณีการรักษามะเร็ง นักวิจัยได้พัฒนาส่วนผสมของ mRNA ทำให้สร้างไซโตไคน์ ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผลิตโดยเซลล์ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ในการต่อสู้กับเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 การบำบัดแบบใหม่ดังกล่าวจะสอนให้ร่างกายผลิตโปรตีนต้านการเกิดของเนื้องอกที่ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับมะเร็งได้
ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นอีกว่า เมื่อฉีดส่วนผสม mRNA เข้าไปในหนูที่เป็นมะเร็งสองประเภท ได้แก่ มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งปอด ไซโตไคน์ที่ผลิตออกมาช่วยกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ช่วยลดเนื้องอกในหนู 17 ตัว จากทั้งหมด 20 ตัว ภายในเวลาน้อยกว่า 40 วัน ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตและลดการเกิดเนื้องอกได้
แม้ว่าผลการศึกษาจะเป็นที่น่าพึงพอใจ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่ายังคงสร้างผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการอยู่ ทั้งนี้ การทดสอบทางคลินิกกำลังดำเนินมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2019 โดยมีผู้เข้าร่วม 231 ราย ซึ่งผลลัพธ์เบื้องต้นพบว่ายังไม่มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อการรักษา การทดลองครั้งนี้มีชื่อว่า SAR441000
อ้างอิง The Independent
Sign in to read unlimited free articles