BEAUTY ส่งความสวยสู่สากล เริ่มปูทาง Omni Channel | Techsauce

BEAUTY ส่งความสวยสู่สากล เริ่มปูทาง Omni Channel

:วางนโยบาย International Beauty & Health Business ยกระดับให้เป็นแบรนด์ด้านความงามและสุขภาพเทียบชั้นสากลที่เป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชีย : ตั้งเป้ารายได้เติบโตมากกว่า 20% พร้อมรักษาอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 25% ภายในปีนี้ โดยมี 6 กลยุทธ์หลักเกื้อหนุน : บริษัทจะมีสถานะเป็น export base company มากขึ้น ที่จะมีส่วนผลักดันยอดขายจากต่างประเทศให้ขยายเป็น 50% ของรายได้รวมภายในปี 2565 : ระยะยาวเดินหน้าสร้างยอดขาย 7 พันล้านบาท และ 1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2563 และปี 2565 : วางรากฐานกลยุทธ์ O2O เพื่อปูทางสู่การเป็น Omni Channel ภายในปีหน้า ให้เป็นส่วนหนึ่งซึ่งจะดันให้ยอดขายจากฝั่ง Online เติบโตกว่า 30% ต่อปี และจะทำให้บริษัทมีอัตราส่วนรายได้จาก Online ไม่น้อยกว่า 10%

BEAUTY ยกระดับแบรนด์เครื่องสำอางและสุขภาพของไทยให้สามารถเทียบชั้นระดับสากลผ่านช่องทางจำหน่ายทั้ง Offline และ Online กรุยทางด้วย O2O ก่อนมุ่งสู่ Omni Channel ภายในปีหน้าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งซึ่งจะดันรายได้ Online เติบโตกว่า 30% ต่อปี โดยในปีนี้วางเป้ารายได้เติบโตมากกว่า 20% พร้อมรักษาอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 25% ซึ่งมี 6 กลยุทธ์หลักเกื้อหนุน ที่สุดท้ายแล้วจะมีฐานรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของยอดขายรวม พร้อมวางแผนส่งความสวยถึงมือสาวจีนด้วยช่องทางออนไลน์ในแบบ Cross Border e-Commerce

BEAUTY-cmo

บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY ก่อตั้งโดย นพ.สุวิน ไกรภูเบศ (ผู้ถือหุ้นใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) และ ธัญญาภรณ์ ไกรภูเบศ (กรรมการบริษัท) สองสามีภรรยาผู้เคยหาเลี้ยงชีพในแวดวงการแพทย์ ก่อนที่จะมองหาโอกาสแห่งการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจค้าเครื่องสำอางในนามของบริษัท โมนาโพลิแตนท์ จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนชื่อในเวลาต่อมา

ทั้งสองจับมือกันฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อฝืดเคือง หรือแม้แต่คู่แข่งจากต่างชาติที่พร้อมทั้งชื่อเสียงและกำลังทุนมาชิงส่วนแบ่งตลาดเครื่องสำอางในไทย แต่ด้วยการไม่ยอมแพ้และปรับกระบวนยุทธ์อย่างสม่ำเสมอ จึงสามามรถยืนหยัดสร้างให้กิจการที่เคยเป็นเพียงร้านเครื่องสำอางเล็ก ๆ ในอดีตกลายเป็นกิจการมหาชนที่ทำรายได้กว่า 3.5 พันล้านเมื่อปีที่ผ่านมา

จนปัจจุบัน บมจ. บิวตี้ ฯ ดำเนินธุรกิจจำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิวภายใต้แบรนด์ บิวตี้ บุฟเฟต์ (BEAUTY BUFFET) บิวตี้ คอทเทจ (BEAUTY COTTAGE) เมด อิน เนเจอร์ (MADE IN NATURE) และ บิวตี้ มาร์เก็ต ( BEAUTY MARKET )

สำหรับแนวทางดำเนินธุรกิจในปีนี้จากคำบอกเล่าของ ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ จะเน้นนโยบาย International Beauty & Health Business เพื่อยกระดับสู่การเป็นแบรนด์ด้านความงามและสุขภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเน้นสร้าง BEAUTY BUFFET ให้เป็นแบรนด์ระดับภูมิภาคภายในปี 2563 ตลอดจนเดินหน้าสร้างยอดขาย 7 พันล้านบาทในปีดังกล่าว และขึ้นไปถึง 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ขณะที่ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโตมากกว่า 20% พร้อมรักษาอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 25%

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพแม้ว่า บมจ. บิวตี้ ฯ จะทำมาตั้งแต่ปี 2558 แล้วแต่ยังไม่ได้จัดเป็น SKUs ที่ชัดเจนของบริษัท กระทั่งปีนี้จึงเริ่มมีพวกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเข้ามา และยังมีผลิตภัณฑ์ที่เน้นดูแลสุขภาพเฉพาะจุดมากขึ้่น เช่น บำรุงเล็บ อุปกรณ์เทคโนโลยีที่ช่วยผลักดันวิตามินเข้าสู่ผิว เป็นต้น โดยคาดว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพจะครองส่วนแบ่งรายได้ระหว่าง 3-4% ของยอดขายรวม

โดย ดร.พีระพงษ์ ขยายความเพิ่มเติมว่า แม้ตลาดในประเทศของเราค่อนข้างแข็งแรงได้ดี แต่หากต้องการให้ยอดขายเติบโตอีก 20 - 30% ได้นั้นจำเป็นต้องเพิ่มตลาดใหม่ เช่น ตลาดต่างประเทศ ที่มีอัตราการเติบโตสูง ที่จะทำให้เรากลายเป็น export base company มากขึ้น

อย่างไรก็ตามโดยปกติแล้วบริษัทมีรายได้จากฝั่งต่างประเทศอยู่ที่ราว 30% แต่เพื่อให้การเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายจึงจำต้องเพิ่มอัตราส่วนรายได้ระหว่างในและต่างประเทศให้อยู่ที่ 50:50 ภายในปี 2565

ปีที่แล้วนับเป็นการเปิดศักราชที่จะทำ international อย่างเต็มที่

กลยุทธ์ 6 ด้านส่งถึงเป้าหมาย

ด้วยโจทย์ที่ท้าทายสำหรับบมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ ที่จะต้องพิชิตให้ได้นั้น ดร.พีระพงษ์ เล่าว่าบริษัทได้วางกลยุทธ์ไว้ 6 ด้านเพื่อเป็นเส้นทางให้สามารถขับเคลื่อนสู่เส้นชัย

เริ่มจากกลยุทธ์แรกที่จะขยายตลาดต่างประเทศแบบเชิงรุกจำนวน 15 ประเทศภายในปีนี้และคาดว่าจะเพิ่มเติมอีกเป็น 18 ประเทศในที่สุด โดยปัจจุบันมีแล้วถึง 11 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน สิงคโปร์ เมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฮ่องกง สปป.ลาว จีน อินเดีย  โดยจะเน้นการทำการตลาดร่วมกันและเพิ่มจำนวน SKUs สินค้า ส่วนอีก 4 ประเทศที่เป็นเป้าหมายในปี 2562 ที่มีแผนจะขยายตลาด คือ รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บรูไน และ แคนาดา ในรูปแบบของตัวแทนจำหน่าย Product Distributor Shop License Shop in Shop หรือ Counter sales

distributor ที่กระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ จะเป็นกลไกที่ช่วยสร้างยอดขายขึ้นมา

รวมทั้งยังเน้นรุกตลาดประเทศจีนซึ่งถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่มีโอกาสทางธุรกิจสูง โดยมีแผนกระจายสินค้าผ่านช่องทาง Cross Border e-Commerce (CBEC) อย่างต่อเนื่องซึ่งช่องทางนี้ถือเป็นโอกาสใหม่สำหรับการค้า Online ในจีนที่รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางโดยผู้ค้าทาง Online จะได้รับสิทธิส่วนลดทางภาษีในอัตราพิเศษ

หลังจากที่บริษัทมีสินค้าวางจำหน่ายแล้วจำนวน 7 Platforms แล้วในปี 2561 สำหรับในปีนี้มีแผนเจรจาเพิ่มจำนวน Platform อีก 2 รายและยังขยายจำนวน SKUs สินค้าเข้าจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ภายในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาบริษัทเริ่มส่งสินค้าเข้าจำหน่ายช่องทางตลาดหลัก (General Trade) ที่ประกอบด้วยช่องทาง Offline และ Online ในตลาดทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Mainland China)

สำหรับตลาดการขายสินค้าหลักของจีนมีทั้งที่เป็นช่องทาง Offline เช่น Traditional Trade Convenience Store Modern Trade ต่าง ๆ และช่องทาง Online ที่เป็น website e-commerce ต่าง ๆ ที่จัดจำหน่ายสินค้าในประเทศจีน

กลยุทธ์ต่อมาคือพัฒนาช่องทางร้านค้าปลีกที่เข้มแข็ง (Retail Business Models) ด้วยศักยภาพที่บริษัทมีสาขารวมทั้งสิ้น 340 สาขา จะพัฒนาปรับปรุงและสร้างความเข้มแข็งให้ช่องทางร้านค้าปลีก โดยจะมีการพัฒนาการบริหารร้านค้าปลีก เปิดสาขาใหม่ 15 สาขา เน้นการทำการตลาดได้ด้วยตัวร้านค้าปลีกเอง (Local Store Marketing) สร้างโมเดลการขายสินค้าที่เป็นสินค้า Multi Brand เข้ามาจำหน่ายในร้าน Beauty Buffet สร้างร้านต้นแบบใหม่เพื่อจำหน่ายสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ครอบคลุม

ด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคเติบโตต่อเนื่อง (Consumer Product) จึงต้องเน้นกลยุทธ์ที่เพิ่มประสิทธิภาพในช่องทางการจำหน่ายเดิมโดยเน้นการเพิ่มจำนวน SKUs สินค้าและทำการตลาดรวมกับห้างพร้อมกับเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ ๆ ที่มีโอกาสเติบโตสูงและเข้าถึงกลุ่มลูกค้า

ในส่วนกลยุทธ์ด้านช่องทาง e-Commerce นั้น ดร.พีระพงษ์ย้ำว่า เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง จึงต้องพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างระบบ e-Commerce ให้มีประสิทธิภาพ วางเป้าหมายรุกตลาด Online ด้วยกลยุทธ์ O2O และพันธมิตร รวมถึงพัฒนาระบบรองรับพฤติกรรมการจับจ่ายผ่านมือถือของบริษัทเอง ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยผลักดันให้บริษัทมีรายได้เติบโตก้าวกระโดด

ขณะที่ใช้กลยุทธ์การขายโดยใช้สินค้าขับเคลื่อน (Product Driven) ช่วยผลักดันยอดขายให้เติบโตโดยการสร้าง Product Heros หรือที่บริษัทเรียกว่า M100 (ผลิตภัณฑ์ที่มีเป้าหมายยอดขายสูงถึง 100 ล้านชิ้นขึ้นไป) ที่ปัจจุบันยังมีไม่ถึง 10 ตัว เช่น แป้งพัฟ ลิปสติกบางตัว เป็นต้น ที่มีกระแสดึงดูดลูกค้าทั้งสินค้าเดิมที่มีอยู่แล้วและสินค้าใหม่ เน้นสินค้าที่เป็น Innovation ตามกระแสแฟชั่น ด้วยไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ท้ายสุดคือ กลยุทธ์การตลาดแบบ O2O การเชื่อมสื่อ Online ทุกแพลตฟอร์ม นำเสนอ Influencers ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงพนักงานทุกระดับ เพื่อสร้าง Engagement กับลูกค้าวงกว้างและเป็นพลังในการสร้างยอดขายให้แก่ช่องทาง Offline และ Online ร่วมกับการพัฒนาการตลาดระดับภูมิภาค ตลอดจนสร้างตลาดต่างประเทศไปพร้อมกัน นั่นคือแนวทางของบริษัทจะไม่ได้เน้นเรื่อง brand awareness เป็นหลักแต่เน้นการสื่อสารที่ต้องสามารถดึงลูกค้าเข้ามายังแต่ละช่องทางจัดจำหน่าย ทำให้ไม่ต้องใช้งบประมาณสูง

ไม่เพียงเท่านั้นยังจะเพิ่มช่องทาง home shopping ที่จัดอยู่ภายใต้ช่องทาง non-retail ที่คาดว่าจะเริ่มมีตัวเลขยอดภายในไตรมาสนี้

เดินหน้า Omni Channel

สำหรับผลกระทบจากวิวัฒนาการด้าน Digital ต่อธุรกิจเครื่องสำอางนั้น ดร.พีระพงษ์ มองว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องแคมเปญการตลาด เพราะมีแนวโน้มชัดเจนว่าผู้บริโภคให้ความสนใจกับสื่อหรือข้อความที่นำเสนอผ่านช่องทาง tradition น้อยลงมาก ทำให้บริษัทยยึดแนวทางสื่อสารการตลาดแบบ O2O (Online to Offline และ Offline to Online) จึงทำให้เป็นผู้นำในการทำกลยุทธ์นี้มาตั้งแต่เมื่อ 4-5 ปีก่อนแล้ว

แต่เป้าหมายระยะต่อไปคือต้องการเป็น Omni Channel หรือให้ลูกค้าสามารถจับจ่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้ทุกช่องทางอย่างแท้จริงโดยข้ามผ่านทุกแพลตฟอร์ม แต่ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ขั้นตอนของการเป็น Click & Collect ที่จะเสร็จเรียบร้อยภายในปีนี้ เพื่อที่จะเดินหน้าสู่ Omni Channel ภายในปีหน้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะเกื้อหนุนให้สามารถขยายยอดขายในส่วน Online ให้เติบโตกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากทั้งการเพิ่มช่องทางจำหน่ายและผลิตภัณฑ์ควบคู่กันไป และจะทำให้บริษัทมีอัตราส่วนรายได้จาก Online ไม่น้อยกว่า 10%

(Omni Channel คือ การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่หลากหลายช่องทาง การเชื่อมโยงช่องทางต่าง ๆ รวมให้เป็นหนึ่งเดียว โดยผสมผสานช่องทางการสื่อสารเหล่านั้นทั้ง Online และการขายหน้าร้าน หรือ Offline เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าอย่างชาญฉลาดและไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นระบบ CRM ยุคเศรษฐกิจและสังคม 4.0)

ตอนนี้ยังไม่เป็น Omni Channel แต่หวังว่าสักวันจะไปแนวนี้

ขณะที่ในส่วนผลกระทบต่อช่องทางจำหน่ายแม้จะมีบ้างแต่ยังไม่มากนัก จึงเป็นเหตุผลที่บริษัทต้องลงทุนและพัฒนาช่องทาง e-commerce เพื่อให้ลูกค้าสะดวกสบายในการซื้อสินค้ามากขึ้น แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่ายังไม่ถึงดีกรีของ Digital Disruption เพราะฐานลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังชื่นชอบที่ได้ไปเลือกชมสินค้าและได้ทดลองใช้ที่ร้านมากกว่า

beauty_cmo

CBEC ผูกใจสาวจีน

ด้วยตลาดเมืองจีนเป็นหนึ่งในฐานธุรกิจที่บมจ. บิวตี้ฯ ให้ความสำคัญ เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่มีโอกาสทางธุรกิจสูง โดยมีแผนกระจายสินค้าผ่านช่องทาง CBEC หรือ Cross Border e-commerce อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่องทางนี้ถือเป็นโอกาสใหม่สำหรับการค้า Online ในจีนที่รัฐบาลจีนมีมาตรการสนับสนุนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางโดยผู้ค้า Online จะได้รับสิทธิส่วนลดทางภาษีในอัตราพิเศษ

สำหรับในปีที่ผ่านมานั้น บริษัทมีสินค้าวางจำหน่ายแล้วจำนวน 8 Platforms อาทิ TMALL JD Kaola VIP YUNJI Little Redbook Beidiam และ Jumei โดยคาดการณ์ว่า ปี 2562 จะมีอัตราการเติบโตสำหรับช่องทางการจำหน่าย CBEC มากกว่า 100% และในปีนี้มีแผนเจรจาเพิ่มจำนวน Platform อีก 2 รายและยังขยายจำนวน SKUs สินค้าเข้าจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ในส่วนของ Offline นั้น ล่าสุด ทาง บมจ. บิวตี้ ฯ ได้เซ็นสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย 2 รายในประเทศจีน เพื่อจำหน่าย สินค้า Scentio Milk Plus Whitening Q10 Facial Foam เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคจีนมากที่สุด และมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางตลาดหลัก General Trade แต่เพียงผู้เดียวในประเทศจีน (Mainland China) ระยะเวลาสัญญา 3 ปี (2562-2564) มูลค่า 4.5 พันล้านบาท และสินค้ามาส์คหน้า T-BEAUTY แบรนด์ Beauty Buffet แต่เพียงผู้เดียว โดยผ่านช่องทางช่องทาง Online และ Offline ในจีน

สำหรับในช่วงต่อจากนี้บริษัทจะทำงานร่วมกันกับตัวแทนจำหน่ายทั้งด้านกลยุทธ์การตลาด โปรโมชั่น เชื่อมโยงทุกเครื่องมือการตลาดเข้าหากัน ชูจุดเด่นคุณภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นยอดขายและสร้างการรับรู้กับลูกค้าในวงกว้าง

ยอดขายผ่าน Online จะมีเพียง 20 - 30% ของตลาดรวมเท่านั้น ทำให้ต้องตีคู่ไปกับตลาด Offline

อย่างไรก็ตาม อินเดียก็เป็นอีกตลาดต่างประเทศที่บริษัทมีความต้องการที่จะไปเปิดตลาดมากขึ้น แม้ว่าจะมี shipment แรกไปแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาหลังทำงานก่อนหน้านี้มาเกือบ 1 ปีแล้ว ขณะที่รัสเซียก็เป็นตลาดที่บมจ. บิวตี้ฯ มุ่งจะเจาะฐานลูกค้าให้ได้ โดยมีเป้าหมายคือต้องการเจาะกลุ่มชุมชนคนจีนและเอเชียในแต่ละประเทศทั่วโลก ตัวอย่างเช่นมีแผนจะเปิด flagship store ใน London

beauty_cmo

ปรับโฉมร้าน BEAUTY BUFFET

ด้วยแนวทางธุรกิจที่ใช้ร้านเป็นเครื่องมือในการสร้าง brand image มากกว่าที่จะใช้โฆษณาที่เป็นสื่อวงกว้าง ล่าสุดจึงมีการปรับรูปแบบร้านที่นอกจากมีการออกแบบหน้าตาร้านใหม่แล้ว ในส่วนของร้าน BEAUTY BUFFET ยังมีการปรับปรุงในส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น 100 สาขาแรกจะเริ่มมีกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่ private label เข้ามาเพิ่มเติม ทั้งนี้คาดว่าจะมี flagship store รูปแบบใหม่เกิดขึ้นราว 10 สาขา

ดร.พีระพงษ์ ฉายภาพทิศทางการแข่งขันของธุรกิจเครื่องสำอางทั้งในและต่างประเทศว่าจะร้อนแรงเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงที่ 7-8 ปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยสายตาของคนนอกจะมองว่ามีอัตรากำไรสูง แต่แท้จริงแล้วเป็นตลาดที่พฤติกรรมผู้บริโภคมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากด้วยเช่นกัน จึงมีความเสี่ยงสูงพอสมควร ซึ่งหากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันก็จะลำบาก ทำให้ช่วงที่ผ่านมาจึงมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ออกไปจากตลาดด้วยความรวดเร็วเช่นกัน

ขณะที่บมจ. บิวตี้ ฯ ดำเนินธุรกิจได้ราบรื่นด้วยจุดแข็งเป็นองค์กรขนาดใหญ่และมีเครือข่ายร้านของบริษัทเองที่พร้อมระบายสินค้าเข้าไปในตลาด รวมถึงมีช่องทางตลาดต่างประเทศ ตลอดจนมีแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จัก จึงเป็นปัจจัยเอื้อให้บริษัทสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ดีเพื่อความอยู่รอด ไม่เพียงเท่านั้นยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่เปิดตัวสู่ตลาดไม่น้อยกว่าเดือนละ 5 SKUs ที่นับเป็นกลไกสำคัญให้ตลาดตื่นตัว อย่างไรก็ตามด้วยการรับรู้ของผู้บริโภคที่มองว่าคุณภาพผลิตภัณฑ์ของเครือบมจ.บิวตี้ ฯ ใกล้เคียงกับของแบรนด์ระดับสากลมากขึ้น แต่ราคายังถูกกว่ามาก ก็ถือเป็นจุดขายสำคัญด้วยเช่นกัน

“new comer ทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศมาในหลายรูปแบบ แม้ผู้บริโภคจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่หลาหลายแต่ก็มี loyalty ต่อแบรนด์สูง”

ดร.พีระพงษ์ ฝากทิ้งท้ายอีกว่า ในวันนี้ทุกธุรกิจมีการแข่งขันสูงมาก ด้วยภาวะที่คู่แข่งไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างก็มีศักยภาพทัดเทียมกันทั้งหมด มีช่องว่างความได้เปรียบเสียเปรียบแคบลงกว่าในอดีตมาก เช่นเดียวกับที่พฤติกรรมผู้บริโภคเองก็ผันแปรเร็วมาก ด้วยเหตุที่มีข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมากและผู้บริโภคก็มีทักษะในการเลือกเสพข้อมูลที่เชี่ยวชาญขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้อำนาจการเลือกซื้อผ่านทางการกด click ของผู้บริโภคสูงมากในทุกตลาด

ผู้บริหารธุรกิจต้องหูตากว้างไกลและต้องรู้จักแพ้รู้จักชนะในแต่ละเกมธุรกิจ ไม่มีใครเป็นรักษาตำแหน่งผู้นำได้ตลอดไป

 


Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...