สรุปกำไรสุทธิปี 2022 ของ 6 ธนาคารใหญ่ในประเทศไทย | Techsauce

สรุปกำไรสุทธิปี 2022 ของ 6 ธนาคารใหญ่ในประเทศไทย

ล่าสุดบรรดา 6 ธนาคารใหญ่ในประเทศไทย ได้เดินหน้าประกาศผลประกอบการธนาคารในส่วนของกำไรสุทธิ และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิออกมาเป็นที่เรียบร้อย วันนี้ Techsauce จะมาสรุปและรวบรวมให้ดูว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา 6 ธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ในไทยจะเป็นอย่างไรกันบ้าง กับการดำเนินธุรกิจท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

กำไรสุทธิ

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2022 จำนวน 29,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อและการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.42 สอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคาร ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 30.0 

BBL ฟันกำไรสุทธิปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6

ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาดและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์ และบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและบริการการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 49.7 

ทั้งนี้ ธนาคารพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 32,647 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.4 จากปีก่อน ธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรอง โดยพิจารณาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ในปี 2022 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายโดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไทยไดเ้ริ่มลดลงตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมา

ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพยังคงแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2022 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,682,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากสิ้นปี 2021 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 260.8

ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2022 จำนวน 3,210,896 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากสิ้นปี 2021 และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 83.5 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 19.1 ร้อยละ 15.7 และร้อยละ 14.9 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

KBank แจ้งผลประกอบการ ปี 2022 กำไร 35,770 ล้านบาท

ส่วนทางด้านธนาคารกสิกรไทย สำหรับปี 2022 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 35,770 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 2,283 ล้านบาท หรือ 6.00% โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 98,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.72% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ย

ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) ที่สูงขึ้นอยู่ในระดับ 3.33% ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 43.15%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL)  เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระดับสูงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ 

ส่วนทางด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 13,608 ล้านบาท หรือ 11.40% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น

ควบคู่กับการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 3,700 ล้านบาท หรือ 8.42% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด 

ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,709 ล้านบาท หรือ 5.22 % หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า   

ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในปี 2565 มีจำนวน 51,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28.73% เพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต

รวมทั้งการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ยังคงเปราะบาง นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ให้มีความพร้อมในการดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้เต็มศักยภาพ ตอบรับกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น

โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2022 อยู่ที่ระดับ 154.26% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น      

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2022 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,246,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2021 จำนวน 142,970 ล้านบาท หรือ 3.48% หลัก ๆ เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อสุทธิตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ

นอกจากนี้ ธนาคารเพิ่มความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และจะเป็นกำลังขับเคลื่อนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2022 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.81%

โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.84% ทั้งนี้ งบการเงินรวมของธนาคารและบริษัทย่อยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2022 ได้รวมฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของธนาคารแมสเปี้ยน จากการเข้าไปลงทุนเพิ่มในช่วงปลายปีทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมร้อยละ 67.50 ของหุ้นที่ออกและชำระแล้ว ซึ่งไม่มีผลกระทบต่องบการเงินรวมอย่างมีสาระสำคัญ

SCBX โชว์กำไรสุทธิปี 2022 โกย 37,546 ลบ. เพิ่มขึ้น 5.5%

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) SCBX เผยกำไรสุทธิของปี 2022 อยู่ที่ 37,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการตั้งเงินสำรองที่ลดลง ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้จากการลงทุน

ในปี 2022 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 107,865 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% จากปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิภายใต้กลยุทธ์การเติบโตที่เน้นคุณภาพสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 3.3% จากปีก่อน 

รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ มีจำนวน 44,866 ล้านบาท ลดลง 4.7% จากปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง อีกทั้งรายได้จากการลงทุนและการค้ามีจำนวน 1,689 ล้านบาท ลดลง 79.1% จากปีก่อน เนื่องจากความผันผวนอย่างสูงของตลาดเงินและตลาดทุนในปีที่ผ่านมา 

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 69,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% จากปีก่อน เป็นผลจากกิจกรรมธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการปรับโครงสร้างองค์กรภายใต้ยุทธศาสตร์ยานแม่ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ในระดับที่ เหมาะสมที่ 45.2% ในปี 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย 

บริษัทฯ ได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 33,829 ล้านบาท ลดลง 19.5% จากปีก่อน สะท้อนถึงการบริหารคุณภาพสินเชื่อด้วยมาตรการเชิงรุกและความระมัดระวังตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดมาโดยตลอด ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 159.7%

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 2022 อยู่ที่ 3.34% ปรับตัวลดลงจาก 3.79% ในปีก่อน เป็นผลของความสำเร็จในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย และการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีประสิทธิภาพ และเงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัทฯ ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.9%

คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2022 บริษัท เอสซีบี เอกซ์ ได้ปรับโครงสร้างองค์กรภายใต้ยุทธศาสตร์ยานแม่แล้วเสร็จ และพร้อมเดินหน้าก้าวสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีและสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะหนึ่งถึงสองปีจากนี้จะมุ่งเน้นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจในกลุ่มสินเชื่อดิจิทัล ซึ่งได้มีการเตรียมตัวทั้งในแง่ทีมงานและกลยุทธ์มาระยะหนึ่งแล้ว 

ในขณะเดียวกันก็ยังคงเน้นกลยุทธ์การก้าวไปสู่ธนาคารที่ดีขึ้น (Be a Better Bank) ของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเน้นการเติบโตแบบมีคุณภาพภายใต้โครงสร้างต้นทุนที่ลดลง สำหรับธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะเน้นการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไปตามสภาวะตลาด 

ในส่วนของผลประกอบการในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงรักษาการเติบโตและความมั่นคงของสถานะการเงินได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมภายใต้ความผันผวนอย่างสูงของตลาดเงินตลาดทุน บริษัทฯ เชื่อว่าการเติบโตของธุรกิจของกลุ่มในระยะต่อไปจะยังมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากยุทธศาสตร์ยานแม่และการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ

Krungthai กวาดกำไรสุทธิ 33,698 ลบ. โต 56%

“กรุงไทย” ผลประกอบการปี 65 แข็งแกร่ง กำไรสุทธิ 33,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% และไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 64%“ธนาคารกรุงไทย” เผยผลประกอบการเติบโตแข็งแกร่ง กำไรสุทธิปี 2565 เท่ากับ 33,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 56 จากปีที่ผ่านมา และกำไรไตรมาส 4 ปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจากรายได้รวมที่ขยายตัวได้ดี

โดยสินเชื่อเติบโตอย่างสมดุล รายได้ดอกเบี้ยเติบโตตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย เดินหน้าดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางปรับตัวรับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดี กิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศทยอยกลับมาเป็นปกติมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จากสงครามรัสเซียและยูเครนกดดันราคาพลังงานให้เพิ่มขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อคุมภาวะเงินเฟ้อ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธนาคารตระหนักถึงผลกระทบต่อลูกค้าประชาชน จึงพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาปกติ ผ่านมาตรการความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้า เพื่อรองรับทิศทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว พร้อมดูแลผู้ฝากเงินให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการออมเพื่อความมั่นคงทางการเงินในอนาคต

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 33,698 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 56.1 สาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพ โดยสินเชื่อไม่รวมสินเชื่อภาครัฐ เติบโต ร้อยละ 4.3 จากสิ้นปี 2564 และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวม ทำให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 43.68 ลดลงจากร้อยละ 45.54 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง และติดตามภาพรวมของเงินให้สินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) ร้อยละ 3.26 ลดลงจากสิ้นปี 2564 ที่เท่ากับร้อยละ 3.50 อีกทั้ง พิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลงร้อยละ 25.2 จากช่วงเดียวกันของปี ซึ่งยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 179.7 เทียบกับร้อยละ 168.8 เมื่อสิ้นปี 2564 ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.0 มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 15.8 จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย พร้อมรักษาสมดุลของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง

 โดยธนาคารมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายโดยองค์รวม ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 45.30 ลดลงจาก ร้อยละ 49.16 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 7,532 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.5 โดยยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2565 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.9 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง

พร้อมกับการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน จากค่าครองชีพ ค่าแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กระทบกลุ่มเปราะบางต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจของโลก ส่งผลให้ NPLs Ratio-Gross เท่ากับร้อยละ 3.26 และยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 179.7

โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้จากการดำเนินงานอื่น ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวม ทำให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 45.30 ณ 31 ธันวาคม 2565 ธนาคาร (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 16.50 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 19.68 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท.

ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2565 ธนาคารได้ออกตราสารด้อยสิทธิ ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จำนวน 18,080 ล้านบาทเพื่อเตรียมพร้อมทดแทนตราสารด้อยสิทธิที่ไถ่ถอนจำนวน 20,000 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นการไถ่ถอนก่อนวันครบกำหนดเพื่อช่วยรักษาระดับของอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้แข็งแกร่งและรองรับการเติบโตในอนาคต

Krungsri กำไร 30.71 พันล้านบาท เติบโต 20% 

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เผยผลประกอบการของปี 2565 มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติจำนวน 30,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า สนับสนุนโดยการลดลงของภาระการตั้งสำรอง และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูงและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้น

เงินให้สินเชื่อของกรุงศรีเติบโตอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้าในปี 2565 โดยสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่ 3.8% และ 5.3% ตามลำดับ สะท้อนการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนภาคเอกชน ที่ช่วยกระตุ้นความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องของภาคธุรกิจ กอปรกับการบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพของธนาคาร ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มสูงขึ้น

สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับปี 2565

  • กำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติในปี 2565 จำนวน 30,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% หรือ 5,104 ล้านบาท จากปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวดีขึ้นของภาระการตั้งสำรองและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นในระหว่างปี

    หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (เงินติดล้อ) ในปี 2564 กำไรสุทธิลดลง 9.1% หรือจำนวน 3,081 ล้านบาท

  • เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.1% หรือจำนวน 59,033 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งนี้ สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขยายตัว 3.8% และ 5.3% ตามลำดับ

  • เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 1.4% หรือจำนวน 25,553 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์

  • ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 3.45% จาก 3.24% ในปี 2564 โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินคงที่

  • รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินงานตามปกติ ลดลง 4.6% หรือ 1,561 ล้านบาท จากปี 2564 หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของเงินติดล้อในปี 2564 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 12,288 ล้านบาท หรือ 27.4%

  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 43.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานตามปกติ (หากไม่รวมกำไรพิเศษจากการขายหุ้นเงินติดล้อ) ที่ 43.2% ในปี 2564

  • อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.32% เมื่อเทียบกับ 2.20% ณ สิ้นปี 2564 กรุงศรียังคงบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยความรอบคอบระมัดระวัง โดยมีสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมในระดับ 136 เบสิสพอยท์ในปี 2565  

  • อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 167.4%

  • อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.97% ลดลงจาก 18.53% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564

สำหรับในปี 2566 แม้ว่าหลายตัวแปรทางความเสี่ยง อาทิ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องจากปี 2565 และบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ กรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในอัตรา 3.6% ในปี 2566

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.95 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.80 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.64 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 300.70 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.97% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.23%

TTB กำไรเพิ่มขึ้น 36% หรือ 14,195 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง มีกำไรสุทธิรวม 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปี 2564 ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังดูแลได้ดี โดยอัตราส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 2.73% ลดลงจากปีที่แล้วและต่ำกว่ากรอบที่วางไว้

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 เงินฝากอยู่ที่ 1,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% จากไตรมาสก่อน และ 4.5% จากปี 2564 ด้านสินเชื่ออยู่ที่ 1,376 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.3% เนื่องจากมีการชำระหนี้คืนจากธุรกิจรายใหญ่ ทั้งปียังคงเพิ่มขึ้น 0.4% YTD เป็นผลมาจากการเติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวัง เน้นที่สินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก นำโดยสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

รายได้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 4 อยู่ที่ 13,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% QoQ หนุนโดยการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยและการบริหารต้นทุนทางการเงินหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 4,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% QoQ จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น ปี 2565 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 65,852 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากปีก่อนหน้า ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 29,952 ล้านบาท ลดลง 4.1% YoY อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ลดลงอยู่ที่ 45% ลดลงจาก 48% ของปี 2564

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SpaceVIP จัดทริปกินมื้อหรูระดับมิชลินบนอวกาศ สนนราคาต่อหัว 17.8 ล้านบาท

โอกาสสำหรับการทานอาหารสุดหรูบนอวกาศมาถึงแล้ว SpaceVIP เตรียมเปิดประสบการณ์การทานอาหารจากเชฟระดับ Michelin Star ที่ความสูงกว่า 100,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลในการผจญภัยบนขอบอวกาศ โอกา...

Responsive image

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? แหล่งข่าวชี้ Selena Gomez เตรียมขายแบรนด์

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? ข่าวจาก Bloomberg ออกมาว่าตอนนี้ Selena Gomez ได้เริ่มดำเนินการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนเพื่อประเมินมูลค่าแบรนด์แล้ว...

Responsive image

ลุยตลาด EV ปตท.ตั้งบริษัทลูก ‘X Mobility Plus’ เป็นดีลเลอร์ขายรถไฟฟ้าจีน XPENG

PTT ตั้งบริษัทลูก ‘X Mobility Plus’ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า XPENG...