“AI for Executives” - สร้าง New S-Curve พาธุรกิจก้าวนำคู่แข่งด้วย AI | Techsauce

“AI for Executives” - สร้าง New S-Curve พาธุรกิจก้าวนำคู่แข่งด้วย AI

หลายคนคิดว่า AI หรือ Artificial Intelligence ยังคงเป็นเรื่องไกลตัวและยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งานภายในองค์กร แต่รู้ไหมว่า AI นั้นได้อยู่รอบตัวเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหากเรายังไม่รีบปรับตัวเรียนรู้และนำ AI มาใช้งาน ไม่แน่ว่าองค์กรของท่าน หรือแม้กระทั่งประเทศของเราเองก็อาจจะเกิดการเสียเปรียบอย่างมหาศาลได้

สรุปสาระจากงาน “AI for Executives” - สร้าง New S-Curve พาธุรกิจก้าวนำคู่แข่งด้วย AI

ด้วยเหตุนี้เอง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. (ETDA) จึงได้ร่วมมือกับ KX Knowledge Exchange และ บริษัท Looloo Technology ผู้นำทางด้าน AI ของประเทศ เพื่อผสานความร่วมมือในการจัดงาน “AI For Executives: Outpacing the Competition with Deep Tech” ขึ้นมา เพื่อร่วมผลักดันการนำเทคโนโลยีทางด้าน AI มาใช้ในประเทศให้มากยิ่งขึ้น

โดยในครั้งนี้  ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ETDA และประธานกรรมการโครงการ ETDA Sandbox รวมถึง Co-founder ทั้ง 3 ท่านของ Looloo Technology ซึ่งประกอบไปด้วย ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI อดีต Senior Programmer จาก Google คุณสุปิติ บูรณวัฒนาโชค ผู้ร่วมก่อตั้ง Dek-D.com และคุณปริชญ์ รังสิมานนท์ อดีตนักเรียนทุนของ MIT และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันวิจัยและเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองในการทำงานให้ C-Level และบอร์ดจากองค์กรต่างๆ ในงานได้เห็นภาพถึงการแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาดด้วย AI และ Deep Technology

Why AI, Why now?

ในช่วงแรกของงาน ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ได้เล่าให้เราฟังว่า AI จะเข้ามามีอิทธิพลต่อ business service และ production ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก Global Trend ของ AI เมื่อผสมผสานกับเทคโนโลยีอื่นๆ แล้ว เช่น Cloud และ IoT อิมแพคที่เกิดขึ้นจะยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก ทว่าความเร็วในการพัฒนาของเรานั้นด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก ถ้าเราไม่เร่งให้เร็วกว่านี้เราจะถอยหลังไปเรื่อยๆ โดยสถาบันวิจัย Oxford Insights จัดอันดับด้านความพร้อมของการนำ AI ไปใช้ให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 59 จาก 160 ประเทศ

คุณปริชญ์ เล่าให้ฟังว่าในตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งที่รุนแรงที่สุด เพราะเป็นการปฎิวัติในการนำความฉลาดของเครื่องจักรกลมาใช้แทนมนุษย์ หากประเทศใดไม่เปลี่ยนแปลงให้ก้าวทันตามชาติอื่นๆ ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะการสร้าง AI นั้นอาศัยการใช้ข้อมูลจำนวนมาก ยิ่งเรามีข้อมูลมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้ AI ฉลาดขึ้นและทำให้ยิ่งได้เปรียบมากขึ้น ดังนั้นการเริ่มก่อนจึงทำให้ได้ competitive advantage สูง องค์กรเราก็เช่นกันที่ต้องเปลี่ยนให้ทันสมัยตลอดเวลาเราถึงจะมีโอกาสชนะคู่แข่งมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยว่า อายุขัยโดยเฉลี่ยของบริษัทที่จะอยู่บนดัชนี S&P500 ในปัจจุบันนั้นจะอยู่แค่ 14 ปี เทียบกับ 33 ปีในอดีต นี่อาจเป็นการบอกว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ก็สามารถถูกล้มได้ง่ายขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีของบริษัทเกิดใหม่ ดังนั้น C-level และบอร์ดต้องปรับตัวตาม IT Global trend เพื่อเพิ่มโอกาสอยู่รอดของบริษัทในยุคที่การแข่งขันเข้มข้นเช่นนี้

ส่วนความสำคัญของ AI หรือ Artificial Intelligence ซึ่ง Intelligence ที่ว่านี้หมายถึงระบบดิจิทัลที่ทำในสิ่งที่ต้องใช้ทักษะหรือความฉลาดของมนุษย์ ซึ่งคำว่า “ความฉลาด” นั้นสามารถตีความไปได้หลากหลาย ตั้งแต่ความสามารถในการแก้ปัญหาง่ายๆ ของมนุษย์ เช่น การตรวจจับใบหน้าของคนในรูปถ่าย ไปจนถึงเรื่องยากๆ อย่างการบังคับจรวดเพื่อเดินทางไปดวงจันทร์ แต่สำหรับคอมพิวเตอร์แล้ว การเดินทางไปดวงจันทร์ยังง่ายกว่าการตรวจจับใบหน้าคนในรูปถ่ายเสียอีก นั่นก็เพราะการควบคุมจรวดนั้นเป็นการทำงานตามกฏทางฟิสิกส์ และการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ทั้งสององค์ประกอบนี้มีแบบแผนชัดเจน และวิศวกรสามารถเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างกฎที่ช่วยในการแก้ปัญหาได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ถ้าเราต้องการให้ AI เข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ได้ AI ก็จะต้องสามารถแก้ปัญหาที่อาจไม่มีแบบแผนชัดเจน แต่มนุษย์สามารถทำได้โดยง่ายด้วย ศาสตร์ของการแก้ปัญหาเหล่านี้จะอาศัยการเขียนโปรแกรมที่สามารถเรียนรู้ pattern จากข้อมูลจำนวนมาก ไม่มีกฎที่แน่นอน และมีความซับซ้อนสูง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ Machine Learning

AI is already around us

ไม่ว่าทุกคนจะสังเกตหรือไม่ ทุกคนอาจจะเคยผ่านการใช้ AI โดยที่ไม่ทันรู้ตัวมาแล้ว อย่างเช่น
- YouTube/Google การใช้ search engine ค้นหาโดยที่เราไม่ต้องจดจำข้อมูลให้ครบถ้วน เพียงพิมพ์คำบางคำ แบบเป็นส่วนๆ เราก็สามารถหาข้อมูลได้อย่างแม่นยำผ่านการช่วยเหลือของ AI
- Personalisation ร้านค้าออนไลน์ต่างๆ มีใช้ AI ศึกษารายละเอียดเฉพาะตัวของผู้บริโภคแต่ละคน จากการสังเกตพฤติกรรมหน้าจอ การคลิก การสั่งซื้อออนไลน์ เกิดเป็นข้อมูล

ทั้งนี้ยังมี Business use case ที่มีบริษัทนำ AI ไปใช้ แล้วมีผลดีเกิดขึ้นจริง อย่างเช่น การใช้ AI power conversation ของ e-Commerce โดยมีผลการวิจัยระบุว่า แพลตฟอร์มมากกว่า 25% สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้ ถ้ามีตัวช่วยเตือนให้ลูกค้าจ่ายเงินในตะกร้าสินค้าที่ลูกค้ากดทิ้งไว้

เลือกใช้ AI ให้เหมาะกับงาน

ในช่วงถัดมา คุณสุปิติ ได้กล่าวว่า ถึงแม้ AI จะทำได้เกือบทุกอย่าง แต่การที่ AI จะทำบางเรื่องได้ดีกว่ามนุษย์นั้นก็ต่อเมื่อเราเลือกใช้ให้ถูก เพราะอย่างไรก็ตาม AI จะเกิดการเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อคนกำหนดทิศทางและป้อนข้อมูลให้ AI เข้าไป โดยมีตัวอย่างธุรกิจที่บริษัทในประเทศไทยได้นำ AI มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจหลายด้าน เช่น

- ด้าน Computer Vision ที่ทำให้คอมพิวเตอร์  สามารถเข้าใจว่าภาพที่ปรากฎบนหน้าจอนั้นคืออะไร โดยมีประโยชน์นำไปใช้ในหลายด้าน เช่น

  • Optical Character Recognition (OCR): การแปลงตัวหนังสือจากรูปภาพหรือจาก pdf ให้คอมพิวเตอร์อ่านว่าตัวหนังสือเหล่านั้นเขียนว่าอะไร และสามารถนำข้อมูลที่อ่านได้ไปใช้งานต่อได้ 
  • Crop & Livestock Monitoring: การใช้ AI ตรวจจับความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่การเกษตร เช่น การให้ปุ๋ย น้ำ รวมไปถึงการทำฟาร์มปศุสัตว์
  • Multi-camera Tracking: การใช้ AI สังเกตพฤติกรรมของลูกค้าที่เข้ามาในร้านและเก็บข้อมูล หรือการติดตามคนร้ายจากกล้องหลายๆ จุด แล้วเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์รวมกัน
  • Defect Detection: โดย AI สามารถหาข้อบกพร่องในสินค้าที่อยู่ในสายการผลิตได้

- ด้าน Natural Language Processing (NLP) เป็นการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจ ตีความภาษามนุษย์และสื่อสารกับมนุษย์ได้ โดยเราได้เห็นอุปกรณ์ที่ใช้ระบบ NLP อยู่รอบตัวเราอยู่แล้วอย่าง Siri และ Alexa นอกจากนี้เราก็ได้เห็นการนำระบบ NLP มาใช้ในอีกหลายด้าน เช่น

  • Sentiment analysis: ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์คำต่างๆ ในรูปประโยคด้านนิรุกติศาสตร์ หรือการสืบ Social Trends ช่วยวิเคราะห์ว่าสินค้าไหนกำลังได้รับความนิยม เพื่อนำมาขายได้ทันเวลาก่อนกระเเสจะตกลง
  • Smart Chatbot: ใช้ AI ช่วยในการคุยโต้ตอบของ chatbot
  • Text to Speech, Speech to Text: การใช้ AI ในการแปลงข้อมูลเสียงพูดให้คอมพิวเตอร์เข้าใจและนำไปประมวลผลต่อได้ หรือเปลี่ยนจากภาษาคอมพิวเตอร์ให้เป็นเสียงที่มนุษย์เข้าใจ


นอกจาก AI แล้ว สิ่งที่บริษัทยุคใหม่ขาดไม่ได้คือการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analysis) ซึ่งมี แอปพลิเคชันหลากหลายเช่นเดียวกัน ดังต่อไปนี้

  • Fleet Optimization:  ใช้ AI เพื่อเลือกเส้นทางคมนาคมที่ดีที่สุด และจัดสรรทรัพยากรคนและยานพาหนะให้คุ้มทุนที่สุดในธุรกิจ 
  • Truck Load Optimization: นำ AI มาช่วยในการจัดสินค้าบนรถขนส่งเพื่อให้การขนส่งต่อรอบนั้นขนของได้ในปริมาณที่คุ้มค่าที่สุด

ผู้บริหารควร “Start your first AI project” อย่างไร? 

เมื่อเราเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยี AI และ Deeptech เพื่อเสริมองค์กรให้มีศักยภาพมากขึ้นแล้ว ในขั้นต้น เราจำเป็นต้องหา Framework ให้องค์กรดังนี้

1) ต้องระบุปัญหาองค์กรที่ต้องการแก้ไข หรือกำลังดำเนินการอยู่
2) ประเมินคุณค่าหรือความคุ้มค่าที่เกิดขึ้น เมื่อเราแก้ปัญหานั้นๆ สำเร็จ
3) เมื่อรู้ปัญหาแล้ว เรารู้หรือไม่ว่าเราจะใช้ AI และ Deeptech เข้ามาแก้ไขตรงไหน
4) หากขาดแคลนเทคโนโลยีที่จะใช้ เราตะวิเคราะห์ปัจจัยได้ไหมว่าสาเหตุมาจากสิ่งใด (ขาดแคลนคน-ผู้เชี่ยวชาญ/ ขาดแคลนข้อมูล/ ขาดแคลนโครงสร้าง/ ขาดแคลนเงินทุน)
5) หากปัญหาเหมาะสมกับการใช้ AI บริษัทควรจะใช้ AI ประเภทไหนในการแก้ปัญหานี้

โดยใน Framework นี้แต่ละองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรเพื่อสร้าง AI ที่ตอบโจทย์ต่อธุรกิจได้มากที่สุดได้

บทความนี้เป็น Advertorial 

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Jensen Huang ตอบประเด็นอนาคต AI ยังไงต่อ ? ในงาน GTC 2024

บทความนี้ Techsauce ชวนมาฟังความเห็นของ CEO บริษัทชิปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เกี่ยวกับอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ในงาน GTC 2024...

Responsive image

SpaceVIP จัดทริปกินมื้อหรูระดับมิชลินบนอวกาศ สนนราคาต่อหัว 17.8 ล้านบาท

โอกาสสำหรับการทานอาหารสุดหรูบนอวกาศมาถึงแล้ว SpaceVIP เตรียมเปิดประสบการณ์การทานอาหารจากเชฟระดับ Michelin Star ที่ความสูงกว่า 100,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลในการผจญภัยบนขอบอวกาศ โอกา...

Responsive image

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? แหล่งข่าวชี้ Selena Gomez เตรียมขายแบรนด์

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? ข่าวจาก Bloomberg ออกมาว่าตอนนี้ Selena Gomez ได้เริ่มดำเนินการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนเพื่อประเมินมูลค่าแบรนด์แล้ว...