6 วิธีรับมือ เมื่อพนักงานมีอาการซึมเศร้า แนะนำจาก HBR | Techsauce

6 วิธีรับมือ เมื่อพนักงานมีอาการซึมเศร้า แนะนำจาก HBR

ตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19  การทำงานจากที่บ้านก็ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจมนุษย์วัยทำงาน เริ่มจากต้องปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ช่วงเวลาการทำงานและพักผ่อนเลือนหายไป และหลายคนกังวลถึงโควิด-19 จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ต้องติดตามข่าวสารตลอดเวลา จนก่อให้เกิดความเครียด และอาการทางจิตเวชตามมา อาทิ ซึมเศร้า วิตกกังวล 

อาการเหล่านี้อาจส่งผลให้วิถีการทำงานของพนักงานเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดก็จริง แต่ บางคนเลือกที่จะเก็บไว้ในใจและทำงานต่อไป ยกเว้นแต่ว่าลูกน้องที่รู้สึกไว้ใจกับหัวหน้าก็เลือกที่จะเปิดเผยออกมาว่าตนเองมีอาการดังกล่าว ซึ่งสิ่งที่ท้าทายตามมาก็คือ แล้วหัวหน้าจะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไรให้ลูกน้องรู้สึกสบายใจที่ได้พูดออกมา  วันนี้ Techsauce มีเทคนิคดี ๆ จาก Harvard Business Review (HBR) สำหรับองค์กรที่อยากจะรักษาใจพนักงาน โดยที่งานยังเดินหน้าได้อย่างราบรื่น 

ขอบคุณลูกน้องที่เปิดใจพูดถึงอาการตนเอง

ก่อนที่จะหาหนทางแก้ไขปัญหา Kelly Greenwood ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Mind Share Partners องค์กรไม่แสวงหากำไรที่สนใจในประเด็นของสุขภาพจิตในที่ทำงาน ได้กล่าวใน HBR ว่าหัวหน้าควรกล่าวขอบคุณหากพนักงานได้พูดถึงอาการของตนเองให้ฟัง เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครคนหนึ่งจะออกมาพูดว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้าโดยที่ไม่กังวลถึงผลที่ตามมา Greenwood เน้นย้ำว่าให้ขอบคุณพนักงานอย่างสุภาพ ไม่แสดงอารมณ์ถึงประเด็นดังกล่าวมากเกินไป  ‘ห้าม’ ทำให้ประเด็นสุขภาพจิตเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะทำให้พนักงานคนนั้นรู้สึกกลัวต่ออนาคตการงานได้ ให้ปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเหมือนที่เคยเป็นในอดีตดังเดิม

ฟังอย่างจริงใจ ไม่ตัดสินไปก่อน

หัวหน้าควรจะเปิดโอกาสให้พนักงานได้พูดในสิ่งที่ตนอยากพูด ไม่ฝืนใจพนักงาน และรับฟังความต้องการของพนักงานโดยที่ไม่ตัดสินใจ ขณะเดียวกัน Greenwood ได้กล่าวอีกว่า ระหว่างที่รับฟังพนักงาน ไม่ควรแสดงท่าทีที่อึดอัดหรือหวาดกลัว เพราะพนักงานจะรู้สึกไม่เชื่อใจจะพูดอีกต่อไป นอกจากนี้ไม่จำเป็นต้องถามคำถามต่อ โดยเฉพาะคำถามที่อาจกระทบต่อจิตใจพนักงานได้ มองว่าสุขภาพจิตของพนักงานไม่แตกต่างอะไรจากสุขภาพกาย เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ 

ช่วยเหลือพนักงานได้เท่าที่พอเหมาะพอควร

สำหรับพนักงานแล้ว การบอกหัวหน้าว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้หมายความว่าจะขอให้ทางบริษัทลดปริมาณงาน หรือให้วันหยุดเพิ่มเสมอไป อาจเพียงแค่แจ้งให้ทราบเท่านั้น ดังนั้นหัวหน้าไม่จำเป็นต้องคาดเดาไปล่วงหน้า แต่ถ้าต้องการจะช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตพนักงานจริง ๆ ควรปรับกระบวนการทำงานตามเหมาะสม เช่น ผ่อนคลายกฎการทำงานให้มีชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่น อนุมัติให้พนักงานลาหยุดกรณีที่ต้องไปหาจิตแพทย์ หรือเพิ่มตัวเลือกการทำงานให้พนักงานทำงานคนเดียว หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ได้ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงานภายในประเทศด้วย

ถ้าการปรับเปลี่ยนการทำงานของพนักงานคนนั้นกระทบต่อเพื่อนร่วมงาน หัวหน้าควรพูดคุยกับพนักงานว่าควรตอบคำถามนั้นอย่างไร ไม่ควรตอบเพื่อนร่วมงานแทนพนักงานคนนั้นด้วยตนเอง

รักษาความลับของพนักงานอยู่เสมอ 

ต้องให้พนักงานในองค์กรรู้สึกมั่นใจด้วยว่าทุกอย่างที่พนักงานเล่าจะเป็นความลับ หากจำเป็นจะต้องพูดคุยกับแผนกทรัพยากรบุคคล (HR) เกี่ยวกับสิทธิแรงงานพึงได้รับจากการรักษาสุขภาพจิต ควรจะขออนุญาตให้พนักงานคนนั้นยินยอมก่อนที่จะบอกไปยัง HR หรือต่อให้แม้ว่าพนักงานไม่ยินยอม ถ้าหากพนักงานยินยอมให้ไปกล่าวต่อ HR ได้ ก็ควรจะบอกกล่าวถึงประเด็นสุขภาพจิตโดยที่ไม่เปิดเผยชื่อพนักงานไปตรง ๆ เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว 

ถ้าจะให้คำแนะนำกับพนักงาน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

Greenwood กล่าวว่า สาเหตุที่พนักงานเปิดใจถึงอาการตนเองก็เพราะว่าคุณมีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานในสังกัด ไม่ได้หมายความว่าหน้าที่ของหัวหน้าต่อจากนี้จะต้องเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา เป็นหมอ หรือเป็นนักกฎหมาย หัวหน้าไม่ได้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต และไม่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับพนักงานด้วยตนเอง หัวหน้าสามารถทำงานร่วมกับแผนกทรัพยากรบุคคลเพื่อหาทางแก้ที่ดีที่สุด หรือถ้าเป็นไปได้ ควรปรึกษากับคลินิกจิตเวช หรือบริษัทที่ให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตจะเหมาะสมกว่า

ทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจที่อยู่ในองค์กร

ปกติแล้ว หัวหน้างานสำหรับพนักงานมักจะเป็นบุคคลตัวอย่างที่มีประสบการณ์การทำงานช่ำชอง และสามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งความเพอร์เฟ็กต์นี้เองอาจทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัดที่จะพูดกับหัวหน้าในเรื่องสุขภาพใจ จนรู้ตัวอีกที ปัญหาสุขภาพจิตอาจทวีความรุนแรงจนรักษาหายยากได้ ดังนั้นถ้าต้องการให้พนักงานผ่อนคลายจากความเครียดช่วงทำงาน ในฐานะหัวหน้าควรแสดงให้พนักงานเห็นว่า ต่อให้ตนเองมีตำแหน่งสูงส่งเพียงใด ก็สามารถผิดพลาดได้เพราะหัวหน้าก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง 

การแสดงส่วนที่เปราะบางให้พนักงานเห็น ก็จะเปิดทางให้พนักงานเชื่อใจในหัวหน้า และกล้าที่จะปรึกษาปัญหาส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งช่วยให้พนักงานรู้สึกสบายใจในองค์กรและหันไปให้ความสำคัญกับงานต่อไปได้อย่างเต็มที่ 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...